มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิง โดยจะพบมากในช่วงอายุ 40 ถึง 70ปี ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้น คือ ผู้ที่มีญาติ(พี่ น้อง มารดา) เป็นมะเร็งเต้านม, เคยเป็นมะเร็งทางมดลูก, รังไข่, หรือลำไส้ใหญ่, ผู้ที่มีความผิดปกติของยีนบางชนิด(BRCA1,BRCA2) และผู้ที่มีอายุสูงขึ้นจะมีอัตราเสี่ยวสูงขึ้น การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกและยังไม่มีการแพร่กระจาย ทำให้โอกาสในการหายขาดจากโรคสูงมาก (80-90%) มะเร็งเต้านมเป็นโรคทีผู้หญิงทุกคนสามารถจะตรวจได้ด้วยตัวเอง การตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง, การตรวจร่างกายโดยแพทย์ปีละครั้ง และการตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์ ที่เรียกว่า MAMMOGRAPHY โดยผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ตรวจทุกปี และอายุมากกว่า 50 ปี ตรวจ 2 ปีต่อครั้ง และในกรณีที่แพทย์สงสัย หรือมีความผิดปกติอาจทำให้ตรวจบ่อยกว่านี้ได้ การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า ทำให้อัตราการหายขาดจากโรคะเร็งนี้สูงขึ้น
มะเร็งปากมดลูก
เป็นมะเร็งที่พบในเพศหญิงอีกเช่นเคย และพบในอัตราที่สูง 90% ของมะเร็งที่ตรวจพบในระยะเริ่มต้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ทั้งโดยวิธีฉายแสง(รังสีรักษา) หรือการผ่าตัด การตรวจที่ได้ผลเป็นที่แน่นอนและยอมรับไปทั่วโลก เป็นการตรวจที่สะดวก รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายไม่แพง คือ การตรวจด้วยวิธี PAP SMEAR ซึ่งสูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ตรวจไปพร้อมการตรวจภายใน โดยนำเซลล์จากปากมดลูกไปย้อมสีพิเศษ และดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้ามีมะเร็งปากมดลูกจะพบเซลล์มะเร็งซึ่งบางครั้งสามารถวินิจฉัยได้ โดยที่ไม่เห็นเนื้องอกด้วยตาเปล่า สตรีทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือเคยมี (ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม) ควรจะต้องได้รับการตรวจทุกปีใน 3 ปีแรก ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ อาจจะห่างออกไปได้ เช่น ทุก 2-3 ปี สำหรับหญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ถ้าอายุเกิน 20-25 ปี ควรจะได้รับการตรวจเช่นกัน
มะเร็งทางลำไส้ใหญ่
พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง โดยพบในเพศชายได้สูงกว่าเล็กน้อย และพบบ่อยมากขึ้นเมื่ออายุเกิน 50 ปี(แต่ก็อาจจะพบในคนหนุ่มสาวได้) ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ อาจจะไม่มีอาการผิดปกติอะไรหรือมีโลหิตจาง(จากการเสียเลือดไปทางลำไส้ใหญ่) หรือมีอาการเปลี่ยนแปลงในการถ่ายอุจจาระ เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด, ท้องผูกหรือท้องเสียผิดปกติ, อุจจาระก้อนเล็กลงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ มักจะมีโรคลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง แล้วทำให้โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ลดลง ผู้ที่มีพี่, น้อง, บิดา, มารดา เป็นมะเร็งทางลำไส้ใหญ่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งทางลำไส้ใหญ่สูงขึ้น การตรวจทางทวารหนัก (RECTAL EXAMINATION) และการตรวจหาเลือดในอุจจาระ (STOOL OCCULT BLOOD) ทุกปีในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วย การส่องกล้อง (COLONOSCOPE) หรือตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยรังสีเอกซเรย์และสวนแป้ง (BARIUM ENEMA) จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดมีมาก
มะเร็งของต่อมลูกหมาก
เป็นมะเร็งที่พบในเพศชายเท่านั้น และพบในคนสูงอายุ คือ มากกว่า 70 ปี ขึ้นไป ซึ่งมักจะมีโรคแทรกซ้อนอื่นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอายุมากอาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก จะคล้ายกับอาการของต่อมลูกหมากโต โดยอาจจะมีอาการ ปัสสาวะลำบาก ไม่คล่อง ไม่มีแรง หรือปัสสาวะไม่ออกเลย ถ้ามีการกระจายของมะเร็งไปยังกระดูก ก็อาจจะมีอาการปวดตามสะโพก หลังหรือต้นขาหรือมาด้วยอาการของกระดูกหัก
การตรวจต่อมลูกหมาโดยนิ้วมือ โดยผ่านทางทวารหนัก (DIGITAL RECTAL EXAMINATION) ทุกปี ในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และการตรวจเลือด PSA (PROSTATIC SPECIFIC ANTIGEN) จะช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็งทางต่อมลูกหมากได้มากขึ้น
มะเร็งของตับ
มะเร็งของตับ เป็นมะเร็งที่พบได้ทั้ง 2 เพศ โดยพบในผู้ชายมากกว่า และพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับตับแข็ง (ทั้งจากการดื่มสุรา และจากสาเหตุอื่นๆ) การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง, และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก
มะเร็งของตับ เป็นโรคที่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษา ถ้าสามารถตรวจพบในระยะแรก และสามารถผ่าตัดออกได้หมด จะมีโอกาสรักษาหายขาดได้ แต่ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ จะเป็นระยะที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
การหลีกเลี่ยงแอกอฮอล์ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี ในคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะช่วยลดอัตราเสี่ยงลงได้ (ไวรัสตับอักเสบซียังไม่มีวัคซีนป้องกัน) สำหรับผู้ที่อัตราเสี่ยงอยู่แล้ว (มีตับแข็ง หรือมีโรคตับอักเสบบีหรือซี) ควรให้มีการตรวจร่างกาย และตรวจเลือดดูสาร AFP (ALFA FETOPROTEIN) ทุก 6 เดือน และตรวจตับด้วยอัลตราซาวน์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อผลเลือดผิดปกติ หรือทุก 1-2 ปี จะช่วยให้พบโรคในระยะแรกได้
ในอนาคต คงจะมีวิธีการตรวจใหม่ๆ ที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรก แต่ในระหว่างนี้ คงจะต้องระมัดระวังตัวเองโดยการลดปัจจัยเสี่ยงลง
ขอขอบคุณ
นายแพทย์สุธี ลีละเศรษฐกุล
ขอขอบคุณ
แหล่งข้อมูลจาก http://www.ram-hosp.co.th/books
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น